เคล็ดลับการดูแลรักษามอเตอร์ไซค์ให้อยู่ได้นาน

August 23, 2022
ดูแลรักษามอเตอร์ไซค์

รถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมมายาวนาน ไม่เสื่อมคลาย เพราะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ลดเวลาในการเดินทาง ประหยัด และมีข้อดีมากมาย โดยการดูแลรักษามอเตอร์ไซค์ของคุณให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอนั้น สามารถทำได้ง่ายๆด้วยตัวเอง ไม่แพง และไม่ต้องเสียเวลาไปที่ร้านด้วย

นอกเหนือจากการล้างรถมอเตอร์ไซค์ด้วยตนเองแล้วนั้น ยังมีสิ่งที่คุณสามารถตรวจเช็คสภาพรถเบื้องต้นด้วยตนเองได้อีกด้วย ไม่ใช่เรื่องยากและยังได้รู้จักส่วนต่างๆของรถมอเตอร์ไซค์ของคุณเอง วันนี้เราจึงจะมาแนะนำเคล็ดลับการดูแลรักษามอเตอร์ไซค์ให้อยู่กับคุณได้ยาวนานกันครับ

ยางรถมอเตอร์ไซค์

ยางรถมอเตอร์ไซค์นั้นมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นยางนอกหรือยางใน เพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่างมอเตอร์ไซค์ของคุณและถนน ช่วยถ่ายทอดกำลังของเครื่องยนต์สู่ท้องถนน รองรับน้ำหนัก ยึดเกาะ และตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่ โดยคุณควรหมั่นตรวจเช็คสภาพของยางรถมอเตอร์ไซค์อยู่สม่ำเสมอ

โดยสิ่งที่ควรตรวจเช็ค คือ การเติมลมยางให้ได้แรงดันตามมาตรฐาน เพื่อช่วยในเรื่องลดแรงกระแทก ช่วยการทรงตัว การเคลื่อนตัวของรถมอเตอร์ไซค์ และความเสื่อมของยาง โดยคุณควรมีเกจวัดแรงดันลมติดรถไว้เสมอ

รวมถึงการดูดอกยาง หากดอกยางเริ่มบาง ผิวเริ่มเรียบ หรือเริ่มมีรอยแตก รอยปริต่างๆ เพราะยางเหล่านี้จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา และไม่สามารถกักเก็บลมไว้ได้ ดังนั้นคุณควรเช็คสภาพอย่างสม่ำเสมอ และทำการเปลี่ยนยางทันทีหากมีการเสื่อมสภาพเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ของคุณ

น้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์

น้ำมันเครื่องของมอเตอร์ไซค์นั้นทำหน้าที่ในการหล่อลื่นเครื่องยนต์ ชุดเกียร์ และคลัทช์ ช่วยระบายความร้อน ควบคุมอุณหภูมิของเครื่องยนต์ ป้องกันการเกิดสนิม และช่วยรักษาความสะอาดของตัวเครื่องยนต์ของรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งหากขาดน้ำมันเครื่องไปนั้น เครื่องยนต์ก็จะไม่สามารถใช้งานได้ และอาจส่งผลทำให้เครื่องยนต์เสียหายเลยก็ว่าได้

น้ำมันเครื่องเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอยู่เสมอตามระยะเวลาที่กำหนด หรือที่เรียกว่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง สำหรับมอเตอร์ไซค์นั้นควรจะเปลี่ยนทุกๆ 4,000 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับประเภทน้ำมันเครื่องที่ใช้ โดยควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่เข้ากันได้กับมอเตอร์ไซค์ของคุณตามที่คู่มือแนะนำ

แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์

แบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์นั้นเป็นอุปกรณ์จัดเก็บไฟฟ้าที่ใช้ในการเก็บพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ปฏิกิริยาเคมีแบบย้อนกลับได้รัหว่างตะกั่วและกรดในแบตเตอรี่ มีหน้าที่จ่ายพลังงานกระแสตรงไปยังระบบต่างๆของมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะเป็นไดสตาร์ทในการสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบจุดระเบิด ระบบหัวฉีด รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆในตัวรถที่ใช้ไฟฟ้า จึงถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากของมอเตอร์ไซค์

คุณต้องทราบว่าแบตเตอรี่ของรถมอเตอร์ไซค์คุณนั้นเป็นประเภทไหน แบบลิเธียม แบบแห้ง หรือแบบน้ำที่ต้องเติมน้ำกลั่น เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง โดยคุณควรตรวจเช็คแบตเตอรี่อยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเช็คระดับน้ำกลั่น ดูตะกอนขั้วบวก ขั้วลบ และทำความสะอาดขั้วอยู่สม่ำเสมอ ไม่ให้แบตเตอรี่สกปรก เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและมอเตอร์ไซค์ของคุณ

หัวเทียนมอเตอร์ไซค์

หัวเทียนเป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญของมอเตอร์ไซค์ มีหน้าที่ในการผลิตประกายไฟเพื่อจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ ทำให้เครื่องยนต์สามารถขับเคลื่อนไปได้ หากหัวเทียนใช้งานไม่ได้ เครื่องยนต์ก็ไม่สามารถสตาร์ทติดได้เช่นกัน

ดังนั้นคุณจึงควรตรวจเช็คสภาพหัวเทียนอยู่สม่ำเสมอ นำมาเช็ดทำความสะอาด เพื่อไม่ให้เกิดคราบเขม่าหรือน้ำมันเกาะ ป้องกันการสตาร์ทรถไม่ติด หรือเกิดอาการกระตุก รถมอเตอร์ไซค์ดับกลางทางได้

ไส้กรองอากาศมอเตอร์ไซค์

ไส้กรองอากาศของมอเตอร์ไซค์มีหน้าที่ช่วยดักจับฝุ่นละออง รวมไปถึงสิ่งสกปรกต่างๆ ไม่ให้หลุดเข้าไปในเครื่องยนต์ เพราะจะทำให้แหวนลูกสูบและผนังกระบอกสูบสึกหรอได้ อีกทั้งยังอาจทำให้มีอาการอุดตันในห้องเครื่อง ซึ่งจะทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าปกติ ควันดำ และทำลายเครื่องยนต์

คุณจึงควรที่จะทำความสะอาดไส้กรองอากาศทุกๆ 4,000 กิโลเมตร และเปลี่ยนไส้กรองอากาศทุกๆ 12,000 กิโลเมตร หรือหากคุณขับขี่ในบริเวณที่มีฝุ่นเยอะ อาจจำเป็นต้องมีการทำความสะอาดเร็วกว่าที่กำหนด เพราะหากไส้กรองอากาศมีความสกปรกมากเกินไปจะมีผลต่อการขับขี่ที่ปลอดภัยของคุณได้

สายพานหรือโซ่มอเตอร์ไซค์

สายพานมอเตอร์ไซค์ และโซ่มอเตอร์ไซค์นั้น เป็นชิ้นส่วนที่ส่งต่อกำลังให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนได้เช่นกัน แต่สายพานนั้นทำมาสำหรับรถมอเตอร์ไซค์แบบออโตเมติก (Automatic motorcycle) หรือที่เรียกว่ารถเกียร์ออโต้ ในขณะที่โซ่นั้นใช้สำหรับรถเกียร์ธรรมดา โดยทั้งสายพานและโซ่นั้นมีการเคลื่อนไหวเป็นลูปต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์กำลังทำงานหรือมีการขับขี่อยู่

ในการตรวจเช็คสภาพของสายพานนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสายพานในระยะ 1,000 กิโลเมตร ในครั้งแรก ตรวจเช็คทุกๆ 4,000 กิโลเมตรหลังจากนั้น และเปลี่ยนสายพานเมื่อใช้งานถึง 24,000 กิโลเมตร หากไม่มีการชำรุดเสียหาย ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือ โดยคุณสามารถตรวจสอบการชำรุดได้ด้วยตนเอง เพราะพื้นผิวของสายพานสามารถแสดงหลักฐานความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ง่าย

โดยคุณสามารถเปิดฝาครอบแคร้งสายพานออก ทำการถอดชิ้นส่วนต่างๆ ตรวจสอบเสื้อคลัทช์และผ้าคลัทช์ และตรวจสอบว่าตัวสายพานจะต้องไม่มีคราบจาระบี น้ำมันหล่อลื่น หรือสารที่จะทำให้สายพานลื่นได้ เพราะจะทำให้ระบบขับเคลื่อนของมอเตอร์ไซค์เสียหาย เมื่อทำการตรวจเช็คเรียบร้อยควรทำความสะอาดก่อนที่จะประกอบกลับไป หากพบการชำรุดของสายพานจะต้องเปลี่ยนเส้นใหม่เท่านั้น

ในขณะที่โซ่นั้นจะไม่มีแคร้งครอบเหมือนกับระบบสายพานและระบบเพลา จึงมีโอกาสที่เศษหิน หรือสิ่งสกปรกจะเกาะติดเข้าไปได้ง่าย จึงควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของทั้งโซ่และสเตอร์ ซึ่งการรักษาโซ่และสเตอร์นั้น ทำได้ง่ายเพียงแค่ถอดออกมาแช่น้ำยาล้างโซ่โดยเฉพาะหรือแช่ในน้ำมันดีเซล ขับคราบสกปรกที่ติดอยู่ตามข้อต่อของโซ่ด้วยแปรง และใส่กลับเข้าไป หยอดน้ำมันหล่อลื่น และตั้งค่าโซ่ให้อยู่ในระดับที่พอดี เท่านี้คุณก็จะช่วยยืดอายุการใช้งาน และเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ของคุณได้

คุณควรดูแลรักษารถมอเตอร์ไซค์ของคุณ ไม่ว่าคุณจะขับขี่มอเตอร์ไซค์ประเภทใดก็ตาม เพื่อให้มอเตอร์ไซค์ของคุณนั้นอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน อีกทั้งยังช่วยเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนให้คุณ และใช้งานได้ยาวนานอีกด้วย อย่าลืมตรวจเช็คมอเตอร์ไซค์กันบ่อยๆนะครับ

Copyright © 2022Yontrakan All Right Reserved.