สิ่งของทุกอย่าง อะไหล่ทุกชิ้น เมื่อมีการใช้งานก็ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 2-10 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่เริ่มมีการเสื่อมสภาพก็จะเก็บไฟไม่ค่อยได้และเริ่มมีปัญหา โดยสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ สตาร์ทไม่ติด, ไฟหน้าไม่สว่าง, ไฟหน้าปัดไม่ติด, หรือแตรเริ่มไม่ดัง เป็นต้น
แบตเตอรี่ของรถมอเตอร์ไซค์นั้นเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จัดเก็บไฟฟ้าสำหรับใช้ในการเก็บพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ปฏิกิริยาเคมีแบบย้อนกลับได้ระหว่างตะกั่วและกรดในแบตเตอรี่
นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังมีส่วนผสมของกรดซัลฟิวริก (Sulfuric Acid) และน้ำกลั่น (Distilled water) ซึ่งรู้จักกันในชื่อกรดแบตเตอรี่อีกด้วย โดยจะถูกเติมลงในแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ และใช้เป็นตัวน้ำไฟฟ้าระหว่างตะกั่วแบตเตอรี่ เพื่อสร้างประจุไฟฟ้า
โดยแบตเตอรี่นั้นจะจ่ายพลังงานกระแสตรงไปยังระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆของรถมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะเป็นไดสตาร์ทในการสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบจุดระเบิด ระบบหัวฉีด รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆในตัวรถที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งคุณจะไม่สามารถใช้มอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ได้เลย หากไม่มีแบตเตอรี่
แบตเตอรี่ของรถมอเตอร์ไซค์จะมีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
1. แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด หรือที่เรียกว่าแบตน้ำ (Conventional / Wet Cell Batteries) - ราคาถูกที่สุด แต่มีขนาดใหญ่ หนัก อายุการใช้งานสั้น และจำเป็นที่จะต้องวางในแนวตั้งเท่านั้น เป็นแบตเตอรี่ที่ไม่นิยมใช้ในมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ๆแล้ว
2. แบตเตอรี่แบบแห้ง (AGM / Maintenance Free Batteries) - หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แบตแห้ง” เป็นแบตเตอรี่ที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน มีขนาดกะทัดรัดกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ ลักษณะคล้ายแบตน้ำ แต่ของเหลวจะติดอยู่ภายในแบตเตอรี่ระหว่างแผ่นเส้นใยไฟเบอร์กลาสพิเศษ เพิ่มซีลปิดด้านบนทั้งหมดเหลือแค่เพียงขั้วไฟ จึงทำให้กรดไม่สามารถหกออกจากแบตเตอรี่ อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า แต่มีราคาแพงกว่าแบตน้ำ แลกกับคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น
3. แบตเตอรี่แบบลิเธียม - เป็นแบตเตอรี่ที่มีราคาสูงมาก แต่มีอายุการใช้งานที่นานที่สุด และให้กำลังไฟมากที่สุด มีน้ำหนักเบาและขนาดเล็กกว่าแบตเตอรี่อีกสองชนิด
ก่อนอื่น คุณต้องทราบว่าแบตเตอรี่ของรถมอเตอร์ไซค์คุณนั้นเป็นประเภทไหน แบบลิเธียม แบบแห้ง หรือแบบน้ำที่ต้องเติมน้ำกลั่น เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง โดยเบื้องต้นนั้นสามารถตรวจเช็คได้ดังนี้
1. เช็คระดับน้ำกลั่นสำหรับแบตน้ำ - เมื่อผ่านการใช้งานไปสักระยะหนึ่งจะเกิดการสูญเสียน้ำจากความร้อนของเครื่องยนต์ โดยระดับน้ำกลั่นจะต้องอยู่ในระดับสูงสุดเสมอ ห้ามปล่อยให้ลดลงไปยังจุดต่ำสุดโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสียได้
2. ดูตะกอนในขั้วบวก ขั้วลบ และทำความสะอาดขั้วอยู่เสมอ - ขั้วแบตเตอรี่ที่สกปรก อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รถมอเตอร์ไซค์ของคุณเร่งไม่ขึ้น สตาร์ทติดยาก หรือเครื่องสะดุดได้ สำหรับแบตเตอรี่แบบน้ำจะต้องทำการไขน็อตฝาครอบแบตเตอรี่ ทำการถอดขั้วสายไฟและขั้วแบตเตอรี่ออก โดยเริ่มถอดจากขั้วลบก่อนเพื่อความปลอดภัย จากนั้นทำความสะอาดขั้วแบตและสายไฟให้สะอาด ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหมาดๆเช็ดหรือใช้แปรงลวดขัดขี้เกลือออกให้สะอาด ห้ามใช้ผ้าแห้งโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดไฟฟ้าสถิต ทำให้แบตเตอรี่ระเบิดได้ เมื่อทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ให้ใส่กลับเข้าตามเดิม โดยใส่ขั้วบวกก่อนแล้วค่อยใส่ขั้วลบ และตรวจเช็คระบบไฟให้เรียบร้อย ในส่วนของแบตเตอรี่แบบแห้งนั้น คุณสามารถทำความสะอาดสายไฟและแบตเตอรี่ด้วยน้ำอุ่น เช็ดให้แห้งอยู่เสมอ และสามารถทาวาสลีนเพื่อป้องกันคราบขี้เกลือได้
3. นำรถเข้าเช็คที่ศูนย์บริการเพื่อตรวจสภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน
4. หากต้องจอดรถมอเตอร์ไซค์ทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยไม่ได้ใช้งาน ควรต้องถอดขั้วลบออก หรือหมั่นสตาร์ทเครื่องอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการชาร์จไฟบ้าง
โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณควรหมั่นทำการตรวจเช็คแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ของคุณอยู่เสมอ ซึ่งสามารถดูแลแบตเตอรี่ด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยวิธีที่แนะนำในบทความนี้ รวมไปถึงอะไหล่และเครื่องยนต์ในส่วนอื่นๆด้วย เพื่อยืดอายุการใช้งาน และลดความเสี่ยงในการสตาร์ทรถไม่ติด รถเสีย หรือรถมีปัญหาได้ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและมอเตอร์ไซค์ของคุณ